EXTREMESOCCER89

แลมพ์ โล่งออก หลังออกจากเชลซี เพราะปัญญหาภายใน

แลมพ์ โล่งออก ก่อนที่จะมีการปลด แฟร้งค์ แลมพาร์ด ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม บรรยากาศภายในของเชลซี อึมครึม ตึงเครียด อย่างมากนอกจากนักเตะหลายคน ไม่มีความมั่นใจในอนาคตแล้ว ยังเกิดความขัดแย้งระหว่าง แลมพาร์ด กับกลุ่มผู้บริหารด้วย แซม วอลเลซ บรรณาธิการของเดอะ เทเลกราฟ

ซึ่งมีเส้นสายรวมถึง แหล่งข่าวอย่างดีใน สแตมฟอร์ด บริดจ์ นำข้อมูลบางอย่างมาเปิดเผยไว้ อย่างน่าสนใจเริ่มจากตลอด 18 เดือน บนเก้าอี้กุนซือ แลมพาร์ด ไม่เคยได้พูดคุยสื่อสารโดยตรงกับ โรมัน อิบราโมวิช เจ้าของสโมสรเลย

ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติมากๆ ที่บอกว่าผิดปกติคือ แลมพาร์ด ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เป็นอดีตนักเตะ จัดอยู่ในโหมดระดับตำนานขึ้นหิ้ง ไม่ว่าจะจำนวนนัดรับใช้ทีม ยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งที่เล่นตำแหน่งมิดฟิลด์ร่วม 13 ปี ที่รับใช้ สิงห์น้ำเงิน อย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในแข้งที่ อิบราโมวิช ประทับใจอย่างยิ่ง แต่พอเปลี่ยนบทบาทมารับงานผู้จัดการทีม

กลับไม่ได้ติดต่อกันโดยตรง เหมือนว่าท่านประธาน ต้องการรักษาระยะห่าง เพื่อไม่ให้เสียระบบ ตามนโยบาย หรือรูปแบบการบริหาร อิบราโมวิช โยนหน้าที่ให้ มารีนา กรานอฟสกาย่า ซึ่งยึดตำแหน่งซีอีโอ หรือหัวหน้าผู้บริหาร รวมทั้งเป็นมือขวา ที่ไว้วางใจเป็นคนจัดการแทนทั้งหมด พูดง่ายๆคือ กรานอฟสกาย่า เป็นเหมือนผู้นำสารของ อิบราโมวิช และ แลมพาร์ด ไปถ่ายทอดอีกทีหนึ่ง

สิ่งที่ชัดเจนก็คืออิทธิพลในทีมของ กรานอฟสกาย่า หรือที่ถูกเรียกว่า “นางสิงห์เหล็ก” จึงเหลือล้น บางเรื่องอาจไม่ต้องปรึกษา ท่านประธานใหญ่ สามารถตัดสินใจขั้นเด็ดขาดได้เองเลย อย่างไรก็ดี วอลเลซ อ้างว่าเหตุผลที่ แลมพาร์ด ได้มารับตำแหน่ง เพราะช่วงดังกล่าว ตัวเลือกมีน้อยมาก แล้วหลายคน ก็เชื่อว่าไม่น่าจะอยู่แบบยาวๆ สุดท้ายก็ต้องโดนเชือดอยู่ดี มันไม่ได้หมายถึงดูแคลนฝีมือการคุมทีมหรอก

แต่การเมืองภายในของ เชลซี รุนแรงมากๆ ทุกคนต้องพยายามวิ่งเข้าหา หรือโอนอ่อน ผ่อนปรนตาม กรานอฟสกาย่า ทั้งสิ้น เพราะรู้ดีว่าได้รับมอบดาบอาญาสิทธิ์ มาโดยตรงหากเธอไม่พอใจใคร ก็จะหาทางเขี่ยทิ้งทันที ไม่มีรีรอให้เสียเวลา ด้วยนิสัยที่เด็ดขาด ตัดสินใจรวดเร็ว ไม่ต้องประนีประนอม ให้เสียเวลาแล้ว กรานอฟสกาย่า นี่แหล่ะที่เป็นคนดึง ปีเตอร์ เช็ก อดีตผู้รักษาประตู เข้ามารับบทผู้อำนวยการเทคนิค

ซึ่งต้องทำงานร่วมกับ แลมพาร์ด โดยตรง ไม่ว่าจะเรี่องวิเคราะห์ผลงาน ผู้เล่นหรือให้คำแนะนำต่างๆน่าสนใจคือ เช็ก กับ แลมพาร์ด กอดคอฝ่าฟันอุปสรรค อีกทั้งเดินหน้า ล่าความสำเร็จร่วมกัน 10 ปีเต็ม น่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พอสมควรอย่างไรก็ดีเมื่อ เช็ก หวนคืนสู่ เดอะ บริดจ์อีกครั้ง มิตรภาพหนหลังดูเหมือนจางลงไป เขาโดน กรานอฟสกาย่า ดึงตัวมาทำงานนี้ ฉะนั้นจึงคล้ายเป็น ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างที่ วอลเลซ บอกไว้ไม่มีผิดหรอก

กรานอฟสกาย่า มีอำนาจมากสุดในทีม เป็นรองเพียงแค่ อิบราโมวิช ทุกคนจึงต้องซ้ายหันขวาหัน ตามนั้นห้ามหืออือในสายตาคนนอก เช็ก น่าจะสนับสนุน แลมพาร์ด แต่คนในจะรู้เลยว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เพื่อนรักต้องมาหักกันเอง ในหลายเรื่อง เช็ก รับคำสั่งโดยตรงมาจาก กรานอฟสกาย่า แบบไม่มีบิดพลิ้ว บางเรื่องหาก แลมพาร์ด ไม่เห็นด้วย ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

กรานอฟสกาย่า มีอำนาจมากสุดในทีม เป็นรองเพียงแค่ อิบราโมวิช

เคยมีข่าวว่าการเสริมผู้เล่น ในตลาดฤดูร้อนที่เพิ่งผ่านไป แลมพาร์ด แทบไม่ได้นักเตะที่ต้องการเลย น่าจะมีเพียงแค่ เบน ชิเวลล์ คนเดียวชอร์ตลิสต์ไปแล้ว ได้รับการตอบสนองที่เหลือเป็นการดำเนินงานเองของ กรานอฟสกาย่า เกือบทั้งสิ้น นั่นจึงสร้างความหงุดหงิดให้ แลมพ์ พอสมควร ในเมื่อเขาเป็นคนต้องใช้งานผู้เล่น แต่ไม่ได้เลือกเฟ้นด้วยตัวเอง การทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ ที่น่าพอใจจึงเป็นไปได้ยาก

กรอบของการเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลสโมสร คือจะสามารถเลือกนักเตะเองได้ มีสิทธิ์จัดการตามความเหมาะสม รวมถึงในส่วนทีมเยาวชน ก็ต้องมาร่วมดูแล แต่นั่นคือรูปแบบบริหารยุคเก่า ปัจจุบันสโมสรในอังกฤษ อิงแนวทางจากภาคพื้นยุโรปมาเยอะ การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น แลมพาร์ด เองคงทำงานด้วยความอึดอัด ไม่ได้รับการสนุนจากเบื้องบน เพื่อนอย่าง เช็ก ก็กลายเป็นคนอื่น เหมือนไม่รู้จักกัน นักเตะบางคนก็ขัดขืนไม่ค่อยเชื่อฟัง

ผลกระทบกระแทกถึงฟอร์มในสนามอย่างจังด้วย ซึ่งคนรับผิดชอบเป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก แลมพาร์ด นั่นเอง ไม่ผิดนักหากจะบอกว่า เขาเหมือนตัวคนเดียวในทีม มันเคว้งคว้าง ล่องลอย ไร้หลักยึด ของจริงแน่นอนมันน่าผิดหวัง ตอนโดนปลดกลางอากาศ แต่เมื่อเดินออกมาแล้ว คงรู้สึกปลอดโปร่ง หายใจคล่องกว่าเดิม

หลังจากเดินออกจาก เดอะ บริดจ์ แล้ว แลมพ์ส ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว มีรูปให้เห็นประปราย ว่ายิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนคนมีความสุขดี การขี่หลังสิงห์แล้วคอนโทรล ให้ก้าวย่างอย่างราบรื่นไม่ใช่เรื่องง่าย และยากยิ่งกว่านั้นคือจะลงมาอย่างไร เพื่อให้เจ็บตัวน้อยสุด หรือไม่โดนสิงห์แว้งมาขย้ำซะก่อน

โธมัส ทูเคิ่ล ผู้มาแทนเริ่มต้นผลงานหรูหราไม่เบา ถึงตรงนี้ 8 นัดทุกรายการ ยังไม่รู้จักแพ้ ชนะถึง 6 เกมด้วยกันที่เหลือเสมอ 2 ล่าสุดการเข่น แอตเลติโก้ มาดริด จ่าฝูงของลาลีกาลงได้ พร้อมทั้งเป็นฝ่ายไล่กดอยู่เกือบข้างเดียว สะท้อนอย่างดีแล้ว อีกทั้งกุนซือเยอรมันผ่าตัดสไตล์การเล่นใหม่ แทบไม่หลงเหลือรูปแบบเดิมของ แลมพาร์ด ให้เห็นเลย

การต่อบอลเท้าต่อเท้าอันแม่นยำ เคลื่อนไหวตลอดเวลา เพรสซิ่งอันเข้มข้น ล้วนแต่นำมาสู่เชลซีในยุคนี้ทั้งสิ้น ทูเคิ่ล เปรียบเสมือนผู้มากอบกู้ ดึงความเชื่อมั่นที่เคยหายไป กลับคืนมาอีกครั้ง ซีซั่นนี้เรื่องลุ้นแชมป์ลีกคงยาก ได้แค่ประคองติดท็อปโฟร์ ความหวังอันเรืองรอง จึงส่งไปยังฤดูกาลหน้า ไม่ต้องห่วงเลยว่าเชลซีคงจะจัดหนักอีกครั้ง

ในเรื่องงบประมาณเพื่อประเคนให้ ทูเคิ่ล โดยเฉพาะแม้ข่าว โรมัน อิบราโมวิช เทงบประมาณ 260 ล้านปอนด์ที่เพิ่งถูกโหมไป จะดูโคมลอย ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือนัก แต่มีแนวโน้มว่า จะเป็นไปได้เช่นกันมันชัดเจนเลยว่า เป้าหมายคือการกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ การใช้เงินมหาศาล หว่านในตลาดซื้อขายผู้เล่นในซัมเมอร์ที่แล้ว ชนิดที่ไม่แคร์ โควิด-19 พอบอกได้ในระดับหนึ่งชื่อของ เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ หรือ แยน โอบลัค จึงโผล่มาเป็นตัวละครสำคัญ ท่ามกลางความคาดหวัง ของกองเชียร์อย่างที่เรารู้กัน

ทูเคิ่ล เองเป็นคนหัวแข็งพอตัว มีอีโก้อยู่ภายใน เชื่อมั่นในแนวทางของตน แล้วเมื่อมาเจอกับคนที่ แข็งเหมือนกันอย่าง กรานอฟสกาย่า อาจเข้าอีหรอบเดิม เชลซีมีกำลังทุนและทรัพยากรนักเตะที่พร้อม อุปสรรคอยู่ที่รูปแบบบริหารของ อิบราโมวิช ที่มักก่อให้เกิดการเมืองภายใน เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ยุค โชเซ่ มูรินโญ่ คุมแล้ว

นี่คือแบบทดสอบสำคัญ ของ ทูเคิ่ล หลังได้รับบทเรียนมาพอสมควรกับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ว่าจะจัดการรับมืออย่างไรนอกจากต้องทำหน้าที่ ของตัวเองแล้ว ทูเคิ่ล ยังต้องจับทิศทาง การเมืองภายในทีมให้ถูกอีกต่างหาก ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้งานเดินอย่างราบรื่น การเมืองภายในนี่แหล่ะ ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้โครงสร้าง การทำงานมีปัญหา ไม่อย่างนั้นเชลซีอาจประสบความสำเร็จ มากกว่าที่เคยในยุคของ อิบราโมวิช

อ่านข่าวฟุตบอล :: เรื่องฟุตบอลน่าสนใจ

ติดตาม Facebook fans page :: Extremesoccer89